วันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

การดำเนินโครงการบ้านมั่นคง (พ.ศ.2547 – 2550) นั้น คาดว่าจะเกิดประโยชน์และผลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน ดังนี้

1. เกิดการแก้ปัญหาความมั่นคงที่อยู่อาศัยให้แก่คนจนในเมือง และการพัฒนาชุมชนแออัดอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ (Land Tenure Security for low – Income Community at National Scale)

สามารถแก้ไขปัญหาได้กว้างขวางถึงประมาณ 200 เมือง/เขต ประมาณ 2,000 ชุมชน 300,000 ครอบครัว ซึ่งเป็นปริมาณที่สามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน

เป็นการแก้ปัญหาความเดือดร้อนด้านอยู่อาศัยที่ตรงจุด ตรงกลุ่มเป้าหมาย เป็นคนจนที่จะได้รับประโยชน์ถืง 1,425,000 คน โดย งบประมาณลงตรงถึงผู้เดือดร้อน

2. แก้ไขปัญหาความยากจนของคนจนในเมืองที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน (Poverty Reduction)

ประชาชนผู้มีรายได้น้อยในชุมชนแออัด ซึ่งเป็นผู้ด้อยโอกาสจะมีความมั่นคงในชีวิต การอยู่อาศัย และคุณภาพชีวิตสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น เป็นการลดช่องว่างที่เหลื่อมล้ำทางสังคม โดยคนจนเป็นผู้จัดการดำเนินการเอง

คนจนและชุมชนเกิดการพัฒนาความรู้ความสามารถ ความรู้สึกเป็นเจ้าของผ่านกระบวนการพัฒนาโครงการ

กระบวนการสร้างความมั่นคงในที่ดินและที่อยู่อาศัย จะนำมาซึ่งการจัดโครงสร้างสังคมของการอยู่อาศัยร่วมกัน เป็นการวางรากฐานให้เกิดความมั่นคงทางสังคม ตามอาชีพ ทางสวัสดิการ และการสร้างชุมชนให้เข้มแข็งมีภูมิคุ้มกันสามารถจัดการเรื่องต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนเอง ซึ่งสามารถนำไปสู่การพึ่งตนเองได้ต่อไป

3. สร้างกระบวนการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบทั้งเมือง [City-wide scale] เกิดแนวทางใหม่ในการแก้ปัญหาคนจนและที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยอย่างเป็นระบบของเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ แต่ละเมืองจะมีระบบข้อมูล สามารถนำไปวางแผนและดำเนินโครงการทุกเมือง ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยกับการพัฒนาความมั่นคงชีวิตกับการพัฒนาด้านอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง เกิดการพัฒนากลไกการทำงานในแนวทางของพื้นที่จากการจัดการร่วมกันอย่างมีส่วนร่วมในเมืองต่าง ๆ อย่างน้อย 100 เมือง

4. สร้างความรู้ความสามารถ [Capacity Building] ให้กับคนจนและองค์กรชุมชนรวมทั้งกลไกท้องถิ่น เพื่อรองรับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยมีกระบวนการกระจายและจัดการความรู้ ความสามารถ และสร้างพื้นที่ของการจัดการพัฒนาร่วมกันอย่างมีส่วนร่วมระหว่างกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่น กระบวนการพัฒนาตามโครงการนี้เป็นวิธีการสร้างความสามารถโดยการทำงานจริงร่วมกัน เกิดการพัฒนาความรู้ ความสามารถของชุมชน องค์กรท้องถิ่น หน่วยงานและสถาบันพัฒนาในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง เป็นการเตรียมรองรับการกระจายอำนาจ ซึ่งพื้นที่จะต้องร่วมกันจัดการพัฒนาปัญหาของชุมชน และที่อยู่อาศัยที่สัมพันธ์กับการพัฒนาเมืองต่อไป

5. เกิดการพัฒนาองค์ความรู้และการเรียนรู้ ในเรื่องการพัฒนาความมั่นคง การสร้างชุมชนและที่อยู่อาศัย สร้างสังคมที่ดีในแต่ละเมืองแต่ละท้องถิ่น และเป็นองค์ความรู้ของแต่ละท้องถิ่นและความรู้รวมของประเทศ เป็นรูปแบบการพัฒนาชุมชนที่อยู่อาศัยที่พัฒนาขึ้นจากประสบการณ์ของประเทศไทย และสามารถจะใช้ประโยชน์เพื่อการเรียนรู้ระหว่างกัน ตลอดจนเชื่อมโยงกับความรู้อื่นและเพื่อแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศ สำหรับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ที่เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ จะทำให้มีการพัฒนาความรู้และหลักสูตรสำคัญกับท้องถิ่นต่อไป

6. เกิดผลในด้านกระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นทั้งระยะสั้นและระยะยาว เนื่องจากเป็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ที่มีการลงทุน การก่อสร้าง การใช้แรงงานท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งในระดับท้องถิ่นและโดยส่วนรวมได้เป็นอย่างมาก

การลงทุนรวมในโครงการตามแผน สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เนื่องจากว่าจะทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจทั้งภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้างและอื่น ๆ ได้ไม่น้อยกว่า 3 – 4 เท่าของเงินลงทุน คาดว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมได้ประมาณ 160,000 – 220,000 ล้านบาท ในระยะ 4 ปี

เกิดการกระจายรายได้และกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปสู่ท้องถิ่นและภูมิภาค

เกิดการสร้างอาชีพ และสร้างรายได้จากการจ้างงานในชุมชนและท้องถิ่น

7. เป็นการแปลงทรัพย์สินเป็นทุนสำหรับการพัฒนาชุมชนคนจนในเมือง (Transforming Assets into Capital) แนวทางการพัฒนาในการสร้างความมั่นคง จัดสิทธิการอยู่อาศัยที่มั่นคงระยะยาวของชุมชนแออัดเหล่านี้ เป็นรูปธรรมของการจัดการเพื่อแปลงทรัพย์สินเป็นทุนสำหรับชุมชนคนจนในเมือง ซึ่งเคยอยู่ในที่ดินของรัฐหรือเอกชนอย่างไม่เป็นทางการ ไม่ถูกกฎหมาย ไม่มีระบบรองรับชัดเจน การจัดสิทธิการอยู่อาศัยให้ชัดเจนจะนำมาซึ่งการรับรองความถูกต้องของชุมชนคนจนในสังคม และสิทธิการครอบครองที่ชัดเจนถูกกฎหมาย ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์เพื่อเป็นพื้นฐานของการพัฒนา งบลงทุนด้านการพัฒนาสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อมในโครงการนี้ และงบสินเชื่อที่จะมีการลงทุนในการก่อสร้างรวมกับการลงทุนที่มีอยู่แล้วในชุมชน จะทำให้ชุมชนคนจนในเมืองทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการ มีทรัพย์สินโดยรวมภายหลังจากการพัฒนาแล้วประมาณ 200,000 ล้านบาท

8. รัฐบาลและท้องถิ่นจะสามารถจัดระเบียบการใช้ที่ดินและเก็บภาษีได้มากขึ้น

ชุมชนในที่ดินรัฐสามารถจัดระเบียบการเช่า การพัฒนาที่ดินอย่างเป็นระบบถูกต้อง ทำให้สามารถเก็บค่าเช่าที่ดิน ภาษีโรงเรือนและภาษีอื่น ๆ ได้อย่างต่อเนื่องต่อไป

รัฐสามารถได้เงินคืนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้ และภาษีอื่นๆ ซึ่งเป็นผลจากการลงทุนที่เกิดขึ้นได้ไม่ต่ำกว่า 4,000 – 10,000 ล้านบาท

9. การใช้การปฏิบัติการในโครงการนี้ไปปฏิรูป/ปรับปรุงกฎระเบียบ และวิธีการทำงานของหน่วยงาน ที่ผ่านมาปัญหาของคนจนที่ไม่สามารถแก้ได้นั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก กฎระเบียบ ข้อบังคับ กฎเกณฑ์ กติกา ของหน่วยงานต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในการพัฒนาของคนจน การใช้การดำเนินการในโครงการนี้ปฏิรูป กฎระเบียบต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยยึดปัญหาที่มีอยู่และความสามารถของชุมชนเป็นหลัก จะทำให้เกิดการแก้ไขปัญหากฎเกณฑ์ระเบียบที่เคยเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา

การให้สิทธิการเช่าในที่ดิน/การใช้ที่ว่างที่มีอยู่ สำหรับการพัฒนาการอยู่อาศัยของคนจนจากหน่วยงานเจ้าของที่ดิน

การปรับ/ผ่อนปรนกฎระเบียบ มาตรฐานการก่อสร้างให้สอดคล้องกับความสามารถในการจ่ายได้จริงของคนจน รวมทั้งผังเมืองที่จะเอื้อให้ชุมชนอยู่ในที่ดินเดิมได้มากที่สุดหรือมีการจัดที่ดินที่พิจารณาถึงการอยู่อาศัยของคนทุกกลุ่มในเมือง รวมทั้งคนจน

การพัฒนาสถาบันการเงินให้สินเชื่อลงสู่ชุมชนและระบบการให้สินเชื่อเป็นกลุ่ม เพื่อโน้มนำไปสู่การเชื่อมโยงชุมชนกับระบบสถาบันการเงินได้ในระยะยาว

10. การมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย มีความโปร่งใส มีเจ้าของโครงการชัดเจน เป็นแนวทางสำคัญในการสร้างธรรมาภิบาล [Good Governance] โดยเฉพาะชุมชนที่เป็นเจ้าของปัญหาและเครือข่ายการพัฒนาหลายฝ่ายในท้องถิ่น มีการวางแผนและการกำหนดแนวทางการพัฒนา โดยใช้การกระจายเงินที่มุ่งให้เกิดความรู้และมีกระบวนการทำงานร่วมกันของท้องถิ่น ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะก่อให้เกิดการร่วมกันตัดสินใจ ร่วมกันรับผิดชอบ ร่วมรับรู้ในการดำเนินโครงการและการใช้จ่ายงบประมาณ แทนการดำเนินการโดยการผูกขาดของหน่วยใดหน่วยหนึ่งเช่นที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลให้เป็นโครงการสาธารณะมีความโปร่งใส เกิดประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณลงสู่ชุมชนอย่างแท้จริง มีกระบวนการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างกันโดยอัตโนมัติ